โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Facial palsy)
โรคอัมพาตใบหน้า (Facial palsy) เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต โดยผลที่ตามมานั้นทำให้การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าและการแสดงออกทางสีหน้า เช่น การหลับตา การยิ้ม การเคลื่อนไหวของหน้าผาก และการพูดสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ หรือผู้ป่วยไม่สามารถแสดงออกทางสีหน้าได้ โดยอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบค่อยเป็นค่อยไป มีแบบที่ทราบสาเหตุและไม่ทราบสาเหตุ
สาเหตุการเกิดโรคอัมพาตใบหน้า
- ไม่ทราบสาเหตุการเกิด (Idiopathic) / Bell’s palsy)
เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยอัตราการเกิดพบโดยประมาณ 15 – 53 คนต่อประชากร 100,000 คน ในประชากรทั่วโลก และสามารถพบมากสุดในช่วงอายุ 20 – 39 ปี ทั้งเพศหญิงและเพศชาย
- อุบัติเหตุ (Trauma)
การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรืออุบัติเหตุที่มีการแตกของกะโหลกศีรษะ หรือกระดูกบริเวณใบหน้า ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อยู่ใกล้เคียงกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ส่งผลให้เส้นประสาทเกิดความเสียหายได้
- การอักเสบและการติดเชื้อ (Infection)
มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเชื้อที่มักพบมากที่สุดคือ เชื้อ Herpes simplex โดยเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดการอักเสบและบวมของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ส่งผลให้การนำสื่อประสาทลดลง และเกิดการอัมพาตตามมาได้ ซึ่งเป็นพยาธิสภาพแบบ Lower Motor Neuron (LMN) เช่น งูสวัด อีสุกอีใส เริม หัดเยอรมัน เป็นต้น โดยการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอัมพาตใบหน้านี้ อาจจะเรียกว่า Bell’s palsy ได้เช่นกัน
- เนื้องอก (Neoplasia)
โดยเฉพาะเนื้องอกที่เกิดบริเวณศีรษะและคอ เช่น เนื้องอกต่อมน้ำลาย (parotid malignancies) เนื้องอกบนเส้นประสาท (acoustic neuromas) เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (meningioma) ถุงน้ำในสมอง (arachnoid cysts) เป็นต้น
- มีภาวะเครียด นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ
วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด
- การออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้า : ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเลือดบริเวณใบหน้า ลดการดึงรั้งของกล้ามเนื้อใบหน้า และช่วยให้กล้ามเนื้อใบหน้าผ่อนคลาย โดยเป็นวิธีที่่ได้ผลดี สามารถทำได้จนกว่าอาการจะดีขึ้น ทำได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ หลังจากได้รับการทำกายภาพบำบัด และอัตราการการฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 61 – 94
- การวางแผ่นประคบร้อน : ช่วยในการเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตและลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า โดยจะวางบริเวณใบหน้าด้านที่่มีอาการประมาณ 15 – 20 นาที
- การนวดกล้ามเนื้อใบหน้า : ช่วยในการลดความตึงตังของใบหน้า เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการตึงตัวมากกว่าปกติ โดยใช้เวลาการนวด ทั้งใบหน้าประมาณ 10 นาที แบ่งนวดแต่ละส่วนเริ่มจากบนลงล่าง ตั้งแต่หน้าผาก เปลือกตา จมูก แก้ม เหนือริมฝีปาก ริมฝีปาก และคาง โดยจะนวดใบหน้าทั้งสองข้างวนเป็นวงกลม โดยใช้นิ้ว 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยเริ่มจากจุดกึ่งกลางของใบหน้า แล้ววนออกมาทางด้านข้าง
- การกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยไฟฟ้า : ช่วยชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อระหว่างรอการฟื้นตัวของเส้นประสาท โดยจะกระตุ้นให้เห็นการหดตัวของกล้ามเนื้อเล็กน้อย (minimal contraction) และควรกระตุ้นไฟฟ้า 5 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยมีข้อห้ามและข้อควรระวังในการทำ คือ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของผิวหน้ามาก มีแผลเปิด การรับรู้ความรู้สึกลดลง และการมีการติดเชื้อที่แพร่ได้โดยการสัมผัส
- การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS : คลื่นแม่เหล็กที่กระตุ้นผ่านผิวหนัง เพื่อไปกระตุ้นเส้นประสาทให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวคลายตัว เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด เร่งการซ่อมแซมและฟื้นตัวของเส้นประสาท
- การใช้คลื่นแสงเลเซอร์ : ใช้เป็นแบบกำลังต่ำ เพื่อลดการอักเสบ ลดการทำลายเส้นประสาทและเร่งการซ่อมแซม
ค่ารักษา 500-1000 บาท/ครั้ง
-PMS 500 บาท
-PMS + HL + Hot pack + Exercise 1000 บาท