สาเหตุของการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แบ่งได้เป็น 4 สาเหตุ คือ
1. ความผิดปกติที่เส้นเลือดในอวัยวะเพศ
พบได้ประมาณ ร้อยละ 70 ของผู้ป่วย และเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
• เส้นเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศอุดตัน ทำให้เลือดเข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่เพียงพอ
• ความผิดปกติของกลไกการกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้เลือดไม่สามารถกักเก็บในอวัยวะเพศได้
• มีความผิดปกติร่วมกันระหว่างเส้นเลือดแดงอุดตัน และกลไกการกดทับเส้นเลือดดำผิดปกติ
2. ความผิดปกติที่ระบบประสาท
ผู้ป่วยอาจจะมีความผิดปกติได้ตั้งแต่ระดับสมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน เส้นประสาทที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
3. ความผิดปกติของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย อาจจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ความรู้สึกทางเพศลดลง ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวลดลงโดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย ความตั้งใจในการทำงานลดลง หรืออาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำกว่าปกติ
4. ความผิดปกติของภาวะทางจิตใจ
ในอดีตมีความเชื่อว่า 90 % ของผู้ป่วยที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจากภาวะทางจิตใจ แต่ปัจจุบันพบว่า เกิดจากโรคทางกายมากกว่าโรคทางจิตใจ แต่ภาวะทางจิตใจที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียด โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรืออาจจะเกิดจากยาทางด้านจิตเวชได้เช่นเดียวกัน
การตรวจและการวินิจฉัย
เมื่อผู้ป่วยมาพบนักกายภาพบำบัด จะทำการซักประวัติ เรื่องลักษณะการแข็งตัว ความต้องการทางเพศ ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติการเจ็บป่วย การผ่าตัดในอดีต โรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ ร่วมกับการทำแบบประเมิน
การรักษา
การรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่นการใช้ยากลุ่ม PDE-5 Inhibitor, การใช้กระบอกสุญญากาศ (Vacuum device), การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shocked wave ED), การรักษาโดยการใช้ยาฉีด หรือการรักษาโดยการผ่าตัด เป็นต้น
การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด
การรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเนื่องมาจากความผิดปกติที่เส้นเลือดอวัยวะเพศ นักกายภาพบำบัดจะใช้ focus shocked wave therapy เพื่อสร้างการบาดเจ็บแก่เส้นเลือดในอวัยวะเพศ และก่อให้เกิดการซ่อมแซมของเส้นเลือดแดงทำให้เลือดเข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายตัวของอวัยวะเพศมากขึ้น และซ่อมแซมหลอดเลือดดำทำให้การกดทับของหลอดเลือดดำมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการกักเก็บเลือดในองคชาตนานขึ้น การแข็งตัวขององคชาตจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“บทความนี้เป็นการประเมินเบื้องต้น ไม่สามารถนำมาอ้างอิงว่าเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ได้ แนะนำให้เข้ามาตรวจร่างกายอย่างละเอียดกับนักกายภาพบำบัด เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวด รวมถึงวางแผนการรักษาอย่างตรงจุด ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล”